เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับครู Information and Communication Technology for Teachers

วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประเพณีไทยภาคอีสาน

ประเพณีไทยภาคอีสาน

ประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร


       “นิทานพื้นบ้านเล่าสืบต่อกันมา  ผาแดงนางไอ่  พระยาคันคาก  ล้วนกล่าวถึงการจุดบั้งไฟถวายแด่พญาแถน  เพื่อเป็นการขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล  หลาบสิบปีได้สืบทอดงานประเพณีบุญบั้งไฟ  ความสวยงามของการตกแต่งขบวนที่ยิ่งใหญ่  ควันสีขาวพุ่งทะยานไปตามบั้งไฟแสนที่ขึ้นสู่ท้องฟ้า  ตามมาด้วยเสียงดังสนั่น  และเสียงลุ้นของผู้คน  สุดเร้าได้ทุกครั้งไป”

เมื่อถึงเดือน ๖ ชาวอีสานจะมีการจัดงานประเพณีที่สำคัญ  หนึ่งในฮีตสิบสอง  จากความเชื่อในการบูชาพญาแถนให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  พร้อมเข้าสู่การทำนาครั้งใหม่  และกล่าวกันว่าหากหมู่บ้านใด  ชุมชนไหน  มิได้จัดงานประเพณีนี้ขึ้นในปีนั้นๆ  ฝนก็จะไม่ตก  พื้นดินก็จะแห้งแล้งไม่สามารถทำการเพาะปลูกใดๆ ได้



เมื่อถึงวันงาน  ก่อนการประกวดประชันบั้งไฟประเภทต่างๆ  จะมีขบวนแห่บั้งไฟตกแต่งด้วยสีสันที่สวยงาม  ตามมาด้วยเสียงดนตรีบรรเลงให้จังหวะในการเซิ้งบั้งไฟ  เซิ้งกระติบ  ฟ้อนขาลาย  ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสาน  และอีกหนึ่งสีสัน  คือ  ขบวนแห่การแต่งกายล้อเลียนบุคคล  ผู้ชายบางคนสวมใส่ชุดหญิงสาวออกอากัปกิริยาอ่อนช้อย  สร้างเสียงหัวเราะ  และความสนุกสนานให้ผู้พบเห็น

การแข่งขันบั้งไฟของยโสธรมีการแบ่งเป็นประเภทแฟนซี  บั้งไฟขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ นิ้ว  บรรจุดินประสิวไม่เกิน ๔ กิโลกรัม  เน้นที่ความสวยงาม  รวมทั้งลีลา  เมื่อจุดขึ้นฟ้าบางทีมอาจมีร่มหลากสีกางออก  หรือมีเสียงประกอบ  และประเภทบั้งไฟแสนซึ่งใช้แข่งขันกัน  โดยนับจากเวลาที่บั้งไฟขึ้นลอยอยู่บนท้องฟ้า  บั้งไฟของใครขึ้นนานที่สุด  สังเกตจากหางที่ตกลงสู่พื้นก็เท่ากับว่าขึ้นได้สูง  และได้รับชัยชนะในที่สุด

เมื่อถึงเวลาแข่งขัน  แต่ละทีมตระเตรียมความพร้อมก่อนจุดบั้งไฟให้ทะยานออกจากฐาน  พร้อมด้วยเสียงบั้งไฟแหวกอากาศที่แสดงถึงความเร็ว  ทิ้งควันสีขาวไปตามเส้นทางสู่ท้องฟ้า  ของใครยิ่งสูง  อยู่บนฟ้าได้นาน  ก็จะได้รับชัยชนะ  ส่วนทีมที่พ่ายแพ้  บั้งไฟระเบิด  หรือไม่ขึ้นก็ต้องถูกกระชากลากลงไปในบ่อโคลนเป็นที่สนุกสนาน  อันเป็นการสานความสามัคคีระหว่างชุมชน  และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงานทุกครั้งไป

          –  วันเวลาการจัดงาน : ช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี
          –  สถานที่จัดงาน : ณ สวนสาธารณะพญาแถน  และเขตเทศบาลเมืองยโสธร






ประเพณีไทยภาคใต้

ประเพณีแข่งเรือหน้าพระที่นั่ง  และงานของดีเมืองนรา  จังหวัดนราธิวาส



          “สีสันเรือกอและอันคงเอกลักษณ์  จากวิถีชีวิตชาวประมงนำสู่ประเพณีท้องถิ่น  เหล่าฝีพายนับสิบประจำในลำเรือ  จากนั้นจึงจ้ำพายสู่หลักชัย  ใครเร็วกว่าคือผู้ชนะ  เสียงปรบมือโห่ร้องส่งกำลังใจจากกองเชียร์ดังรอบ  ภาพบรรยากาศประเพณีแข่งเรือหน้าพระที่นั่ง  และงานของดีเมืองนรา  จึงเต็มไปด้วยสีสันเช่นความงามของลำเรือ”

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมวงศานุวงศ์  เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์  ทรงเสด็จออกเยี่ยมราษฎร  เพื่อรับฟังปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชน  เป็นที่มาของโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน  ช่วยให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข  ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ  ชาวนราธิวาสจึงได้นำเอาการแข่งขันเรือกอและประเพณีไทยอันเก่าแก่ถวายทอดพระเนตรเพื่อเทิดพระเกียรติในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น  นำไปสู่การปฏิบัติตามประเพณีซึ่งเริ่มจางหายไปให้กลับมาดำรงอยู่อีกครั้ง

ในฤดูน้ำหลาก  วิถีชีวิตของชาวประมงยังคงดำเนิน  ขณะที่อีกด้านถือเป็นโอกาสประชันความแข็งแกร่งของเหล่าฝีพายจากทั่วหมู่บ้าน  ตำบล  เรือกอและหลากสีสันลอยลำเป็นระนาบเดียวกันบนผืนน้ำ  แล้วจึงกระโจนออกไปด้วยแรงสามัคคีจากเหล่าฝีพาย  มุ่งตรงไปยังหลักชัยด้วยจังหวะอันพร้อมเพรียง  ผืนน้ำกระเซ็นเป็นละออง  เพียงแค่อึดใจเดียวผู้เร็วกว่าจึงได้คว้าเอาธงซึ่งถือเป็นหลักชัยมาครอง  และนับเป็นชัยชนะในเที่ยวนั้น


การแข่งขันจะแบ่งออกเป็นสี่รอบ  เหล่าฝีพายแต่ละลำเรือไม่เกินยี่สิบสามคน  รวมทั้งนายท้าย  มีฝีพายสำรองไม่เกินลำละห้าคน  การเข้าเส้นชัยจะนับส่วนหัวเรือสุดของเรือที่เข้าเส้นชัยก่อนลำอื่นเป็นผู้ชนะในรอบนั้น  ทุกครั้งเมื่อได้ยินเสียงสัญญาณเริ่มการแข่งขัน  เสียงเชียร์จะดังกึกก้องท้องน้ำ  เรือกอและยังคงเอกลักษณ์ด้วยสีสัน  เลี้ยงชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านมาช้านาน  ในวันนี้ได้สร้างความรื่นเริง  สนุกสนาน  ลดความเหนื่อยล้าจากการงาน  สร้างรอยยิ้มให้กับชาวบ้านได้อย่างน่าชม

          -  วันเวลาการจัดงาน : ปลายเดือนกันยายนของทุกปี
          -  สถานที่จัดงาน : บริเวณหน้าพลับพลาเฉลิมพระเกียรติสิริราชสมบัติ  ครบรอบ ๕๐ ปี  อำเภอเมือง  จังหวัดนราธิวาส


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น